รายการข้อมูลสามมิติ

ใบเสมา ใบที่ 11 ภาพหม้อต่อด้วยกรวย

“กลศ” แปลว่า หม้อน้ำ ใช้ในพิธีกรรมที่ปรากฏในวัฒนธรรมอินเดียมาแล้วเนิ่นนาน เดิมนั้น “กลศ” มีการใช้ในพิธีกรรม ตามคติและประเพณีของพราหมณ์ แต่เชื่อว่ามีการผสมผสานคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์กับพุทธศาสนาหรือกับความเชื่อ ท้องถิ่น ทำให้ “กลศ” ปรากฏเป็นภาพสลักบนใบเสมาในรูปแบบต่าง ๆ “กลศ” เมื่อนำมาใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ จะประดับตกแต่ง อย่างสวยงามและมีขั้นตอนพิธีมากมาย “กลศ” กลายเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ “บูรณะ” แปลว่าความสมบูรณ์ มั่งคั่ง เมื่อนำคำมารวมกันจึงเรียกหม้อน้ำนี้ด้วยนาม อันมีความหมายถึงหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ว่า “ปูรณกลศ” “ปูรณกุมภะ” “ปูรณฆฏะ” เป็นต้น และมีความเชื่อว่ารูปขอบปูรณกลศที่อยู่บนใบเสมา อาจมีความหมายถึงเครื่องสังเวย เครื่องบูชาในพิธีกรรมที่ท้องถิ่นเรียกว่า “บายศรี” ที่สื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน ภาพสลักบนใบเสมาแผ่นนี้ แสดงรูปหม้อทรงกลมใบเดียว ส่วนบนต่อด้วยกรวยทรงสูง ด้านล่างมีแท่นฐานทรงสี่เหลี่ยม และประดับตกแต่งด้วยลวดลายกลีบบัวรองรับหม้อน้ำ