
พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมทวารวดีเสมือนจริง “ใบเสมา ชุมชนบ้านกุดโง้ง จังหวัดชัยภูมิ”
เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจในการพัฒนาสื่อเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดชัยภูมิให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชน ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการวิจัยนวัตกรรมการออกแบบพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมทวารวดีเสมือนจริงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีใหม่ ชุมชนบ้านกุดโง้ง จังหวัดชัยภูมิ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
“ใบเสมาหิน” มรดกทางวัฒนธรรมทวารวดีอีสาน ที่บ่งบอกรากเหง้าของความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนในยุคประวัติศาสตร์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลำน้ำชี ลวดลายร้อยเรียงเรื่องราวพุทธประวัติ ชาดกและพิธีกรรมความเชื่อดั้งเดิมแต่โบราณ ปรากฏความงามขึ้นบนแผ่นหินขนาดใหญ่ ที่เรียงรายอยู่ชุมชนบ้านกุดโง้ง เป็นศิลปกรรมที่คงเอกลักษณ์ของภาคอีสาน ควรค่าแก่การศึกษาและรักษาไว้ให้คงคู่อยู่กับชาวชัยภูมิ
ประวัติชุมชนบ้านกุดโง้ง
ชุมชนบ้านกุดโง้ง เป็นชุมชนหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ โดยที่ตั้งของจังหวัดชัยภูมิตั้งอยู่บริเวณขอบที่ราบสูงระหว่างภาคกลางทางตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีช่องเขาเชื่อมระหว่างทั้งสองฟากกลายเป็นเส้นทางคมนาคมค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง จากการศึกษาพบว่าชุมชนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคกลางเริ่มพัฒนาเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ จึงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมโดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมอื่นผ่านตามเส้นทางการค้าที่มีต้นแบบจากอินเดียที่เรียกกันว่า “วัฒนธรรมแบบทวารวดี” การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมแบบทวารวดีจากภาคกลางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านการค้า ส่งผลให้พื้นที่จังหวัดชัยภูมิ รวมถึงพื้นที่ชุมชนบ้านกุดโง้งได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีไปด้วย
รูปแบบศิลปะใบเสมาหินชุมชนบ้านกุดโง้ง
ใบเสมาชุมชนบ้านกุดโง้ง มีลักษณะเป็นแท่งหินทราย ทั้งที่เป็นแบบแผ่น และแบบแท่งเหลี่ยม มีความสูงโดยเฉลี่ย 2-3 เมตร ลวดลายของใบเสมามีคุณลักษณะเดียวกันกับใบเสมาที่พบในพื้นที่แถบลุ่มน้ำชีอื่น ๆ คือ ภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติและชาดกที่เป็นภาพเล่าแบบเต็มแผ่น โดยที่ชุมชนบ้านกุดโง้งพบจำนวน 8 ใบ ที่จัดแสดงอยู่ในอาคารจัดแสดงใบเสมาหิน วันศรีปทุมคงคาราม ได้แก่ 1) ภาพพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม 2) ภาพชาดกเรื่องมโหสถชาดก 3) ภาพชาดกเรื่องเตมียชาดก 4) ภาพชาดกเรื่องอัมพชาดก 5) ภาพชาดกเรื่องพรหมนารทชาดก 6) ภาพพระศรีอริยเมตไตย 7) ภาพชาดกเรื่องนันทกุมารหรือปัญจาวุธชาดก 8) ภาพชาดกเรื่องภูริทัตชาดก นอกจากนี้ ยังพบใบเสมาที่มีลายสถูป หรือลายหม้อปูรณฆฏะ ลายหม้อต่อกรวย และแบบเรียบอีกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เอกลักษณ์ของลวดลายที่กลายเป็นจุดเด่นของทวารวดีชัยภูมิ และไม่พบในใบเสมาอีสานในจังหวัดอื่น คือ ลวดลายที่ผสมผสานกับกับศิลปะพื้นถิ่น ได้แก่ 1) มีลายกลีบบัวตำแหน่งฐาน 2) ลวดลายกลีบบัวไม่ใช่ตำแหน่งฐาน 3) ลวดลายกนกแบบทวารวดี