ภาพเขียนสีสมัยก่อนก่อนประวัติศาสตร์ ผาผึ้ง จังหวัดชัยภูมิ และภาพที่ค้นพบใหม่ที่วัดสระหงส์ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
เรื่องและภาพ ประเสริฐศักดิ์ มีหมู่
ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ที่ผาผึ้ง ตำบลนาฝาย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ได้รับการค้นพบครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2543 โดยนายสุเทพ ปิ่นประเสริฐ ปลัดจังหวัดชัยภูมิ ออกตรวจราชการในพื้นที่ ตำบลนาฝาย อำเภอเมืองชัยภูมิ พบว่ามีโขดหินที่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้สำรวจพบว่าที่ผนังผาผึ้ง มีร่องรอยภาพเขียนสีรูปฝ่ามือแดงจำนวนมากบนผนังถ้ำ จึงติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ เข้าสำรวจในเบื้องต้นโดยทางสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา (ในขณะนั้น) มอบหมายให้ฝ่ายวิชาการโดยมีนายดุสิต ทุมมาภรณ์ นักโบราณคดี ดำเนินการตรวจสอบภาพเขียนสีดังกล่าว ทั้งนี้จากการสำรวจครั้งนั้นข้อมูลภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาผึ้งไม่ได้รับการเผยแพร่และมีกระบวนการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมสุ่มเสี่ยงต่อการสูญหาย จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้เขียนเองตระหนักถึงความสำคัญของภาพเขียนสีแหล่งนี้คือการเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์แห่งเดียวในพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงในการลบเลือนและสูญหายในอนาคต หากพิจารณาจะเห็นได้ว่าสถานที่ที่เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดชัยภูมิจึงเสนอไว้เป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาไปสู่แนวทางการจัดการระดับนโยบาย
สภาพของภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์จากภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ผาผึ้ง จังหวัดชัยภูมิ
สภาพสิ่งแวดล้อมในรอบพื้นที่
ผาผึ้งตั้งอยู่บนเชิงเขาภูแลนคา ทางทิศใต้อยู่ในเขตตำบลนาฝาย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ โดยห่างจากวัดสระหงส์มาจากทางทิศใต้ประมาณ 300 เมตร ผาผึ้งมีลักษณะเป็นเพิงผาหินทรายขนาดเล็กบนเขาหินทรายเตี้ยๆ เชิงเขาภูแลนคา ด้านทิศเหนือเป็นวัดสระหงส์และภูแลนคา ด้านทิศตะวันออกเป็นถนน รพช ไปบ้านนกเขาน้อย ด้านทิศตะวันตกเป็นอ่างเก็บน้ำช่อระกา พิกัดทางภูมิศาสตร์ โซน 47 P 820137 ม. ตะวันออก, 1761348.34 ม. เหนือ ผาผึ้งลักษณะเป็นแท่งหินทราย ขนาดใหญ่คล้ายรูปดอกเห็ดสูงประมาณ 10 เมตรยาวประมาณ 25 เมตรกว้างประมาณ 10 เมตรตั้งอยู่บนภูเขาหินทรายเตี้ยๆเชิงภูแลนคาอันเป็นภูเขาที่สำคัญทางทิศเหนือของจังหวัดชัยภูมิ บริเวณผาผึ้งมีลานกว้างโดยรอบเพลิงผามีลักษณะเป็นผาหินทรายขนาดใหญ่หันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยส่วนที่ใช้เขียนภาพนั้นมีลักษณะเป็นแผ่นหินทรายเรียบ ตัวภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ภาพเขียนสีที่ผาผึ้งนี้จะมีการเขียนด้วยสีแดงพบสูงจากพื้นตั้งแต่ประมาณ 2.70 เมตรถึง 4 เมตร กว้างประมาณ 2.50 เมตร มีลักษณะเป็นกลุ่มภาพฝ่ามือมนุษย์จำนวนมากที่เห็นชัดเจน เทคนิคการทำใช้วิธีถ้าฝ่ามือลงบนแผ่นหินแล้วจึงเขียนสีแดงรอบฝ่ามือลงไปทำให้ฝ่ามือไม่ถูกสี จึงมีสภาพตามสีหินทรายคือมีสีขาวนวลชวนรอบฝ่ามือจะเป็นสีแดง
ที่ตั้งของภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาผึ้ง
ความเป็นมาภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ผาผึ้ง
ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาผึ้งจากข้อมูลชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชัยภูมิ รายงานการออกสำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 รายงานการค้นพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ โดยนายสุเทพ ปิ่นประเสริฐ ปลัดจังหวัดชัยภูมิ ออกตรวจราชการในพื้นที่ ตำบลนาฝาย อำเภอเมืองชัยภูมิ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยใช้กล้องส่องทางไกลสำรวจรอบๆบริเวณวัดสระหงษ์ พบว่ามีโขดหินที่สูงเด่นน่าสนใจอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัด จึงเข้าไปสำรวจพบว่าที่ผนังผาผึ้ง(ตามชื่อที่ชาวบ้านเรียกขาน) มีร่องรอยภาพเขียนสีรูปฝ่ามือแดงจำนวนมากบนผนังถ้ำ จึงติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ โรงเรียนสตรีชัยภูมิ เข้าสำรวจในเบื้องต้นโดยเสนอให้หน่วยศิลปากรที่ 6 พิมาย ส่งผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบพิสูจน์อีกครั้งโดยด่วน ทั้งนี้หัวหน้าทีมสำรวจเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 คือ นายนพสณฑ์ เศรษฐรังสี และมีเจ้าหน้าที่นายสมศักดิ์ ไชยประสิทธิ์ ปลัดอำเภอจากข้อมูลดังกล่าวที่ได้รับการประสานงานจากจังหวัดชัยภูมิ ทางสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมามอบหมายให้ฝ่ายวิชาการโดยมีนายดุสิต ทุมมาภรณ์ นักโบราณคดี ดำเนินการตรวจสอบภาพเขียนสีดังกล่าวดำเนินการตรวจสอบภาพเขียนสีบริเวณผาผึ้งตำบลนาฝายอำเภอเมืองจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543
ผู้เขียนนำนักศึกษาสาชาวิชาสังคมศึกษาและสาขาวิชาศิลปะและการออกแบบลงพื้นที่สำรวจ
ตามข้อมูลข้างต้นคณะนักวิจัยวางแผนการสำรวจสภาพจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้ 1) สำรวจเอกสารที่เกี่ยวข้อง หนังสือ amazing Chaiyaphum 2000 เผยแพร่เมื่อปีพ.ศ. 2543 โดยสำนักงานจังหวัดชัยภูมิและบริษัทลีโอแลนเซ็ท กล่าวถึงการค้นพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่ผนังผาผึ้ง ตำบลนาฝาย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ รวมไปถึงเอกสารเกี่ยวข้องกับภาพเขียนสีก่อนประวัติสาสตร์ 2) ลงสำรวจพื้นที่เบื้องต้น โดยลงพื้นที่กับนักศึกษาวิชาสังคมศึกษาและสาขาวิชาศิลปะและการออกแบบเพื่อเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ 3) ประสานงานกับสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา และนำคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมาปรับปรุงข้อมูลครั้งที่ 2 ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจสอบแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีผาผึ้ง กรณีได้รับประสานงานจากนายประเสริฐศักดิ์ มีหมู่ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ซึ่งได้รายงานการตรวจสอบแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีผาผึ้งตำบลนาฝายอำเภอเมืองจังหวัดชัยภูมิเพื่อเป็นฐานข้อมูลทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ตำบลตำบลนาฝาย
รายงานผลการวิเคราะห์รายงานว่า สภาพเขียนสีผาผึ้งปัจจุบันมีสภาพหลุดร่อนเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ตรวจสอบภาพเขียนสีด้วยโปรแกรม Dstreth rock art digital enchantment พบภาพฝ่ามือโดยใช้เทคนิคการวางมือกับผนังและพ่นสีจำนวน 17 ภาพ และภาพเขียนสีทรงเรขาคณิตเป็นเส้น 3 เส้นเรียงกันจำนวน 3 ภาพ ภาพเขียนสีผาผึ้งนี้เป็นภาพสมัยก่อนประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของภาคอีสาน ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับความเชื่อมากกว่าเรื่องของวิถีชีวิต เนื่องจากปรากฏเฉพาะฝ่ามือ สันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งลักษณะของภาพเขียนสีที่พบนี้มีลักษณะคล้ายกับภาพเขียนสีที่สำคัญบางแห่งในภาคอีสาน โดยเฉพาะการใช้เทคนิคถ่ายภาพแล้วเขียนด้วยสีแดง ที่สำคัญคือถ้ำฝ่ามือจังหวัดมุกดาหาร ผาคันธง บ้านผาคันธง ตำบลหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ดังนั้นภาพเขียนสีดังกล่าวน่าจะมีอายุสมัยร่วมกับภาพเขียนสีทั่วไปในเขตภาคอีสานคือมีอายุราว 6,000 ถึง 2000 ปีมาแล้ว(กลุ่มโบราณคดี, 2563, : 1-2)
สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมาตรวจสอบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาผึ้ง
28 ธันวาคม 2563 กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา
ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาผึ้ง
ความสำคัญของภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์
ความสำคัญของภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ผาผึ้งนั้น เห็นได้ว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ศึกษาเรื่องราวของมนุษย์เริ่มต้นแต่ปรากฏมนุษย์ขึ้นในโลก ทั้งนี้เห็นได้ว่า ช่วงระยะเวลาของช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าสมัยประวัติศาสตร์มาก ปัญหาของการศึกษาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ต้องศึกษาเรื่องราวของชีวิตมนุษย์จากหลักฐานที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร คือ หลักฐานประเภทวัตถุ สุภาพร นาคบัลลังก์ (2551) กล่าวว่า หลักฐานที่นำมาศึกษา ได้แก่ เครื่องประดับ เครื่องมือ เครื่องใช้ โครงกระดูก ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆเพื่อเข้าใจลักษณะความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนสภาพแวดล้อมในอดีต จากการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบก่อนนำเสนอรายงาน ซึ่งการค้นพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ของจังหวัดภูมินั้น ปรากฏการสำรวจแล้วพบ 3 แห่ง ได้แก่บริเวณภูซำผักหนาม ภาพเขียนสี ถ้ำเงิน และภาพเขียนสีถ้ำขาม บ้านน้ำอุ่น ตำบลทุ่งนาเลา อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งประกอบด้วยภาพเขียนสีแดงลงสีทึบเป็นรูปฝ่ามือสีแดง อีกทั้งรูปมนุษย์และสัตว์ แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาผึ้ง จึงเป็นพื้นที่ซึ่งพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แห่งล่าสุดที่พบเป็นหลักฐานการดำรงอยู่ของมนุษย์ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิมายาวนาน ทั้งนี้การใช้ฝ่ามือในการสร้างภาพด้วยการทาบมือแล้ววาด หรือฝน รวมถึงการพ่นด้วยให้มีภาพร่องรอบมือนั้น ปรากฏร่องรอยรูปแบบนี้ทั่วโลก เช่น แหล่งโบราณคดีบนเกาะสุลาเวสี แหล่งโบราณคดีในเพิ่งถ้ำแถบยุโรป ปัจจุบันยังคงปรากฏการสร้างศิลปะรูปแบบดังกล่าวในชนชาวอะบอริจิ้น ชาวพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ใช้สีแดงซึ่งได้จากธรรมชาติ อาทิ ดินเทศ และแร่เฮมาไทด์ ผสมกับกาวหรือยางไม้ น้ำคั้นจากดอกไม้ แล้วใช้พู่กันที่ทำจากเปลือกไม้หรือใช้วิธีการอมไว้ในปากแล้วจึงพ่นบนฝ่ามือเพื่อเขียนเรื่องราวต่างๆของตนเอง ทั้งนี้การสร้างภาพมือนั้นสันนิษฐานว่าสร้างไว้ในพิธีกรรมและความเชื่อ
ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาผึ้ง ด้วยโปรแกรมที่มา : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา 28 ธันวาคม 2563
ทั้งนี้ผู้เขียนได้รับข้อมูลข้างต้นจากกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 ซึ่งได้สำรวจพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่งใกล้เคียงกันคืออยู่บริเวณเพิงผา ภายในวัดสระหงส์ ใกล้หินรูปหงส์
ที่ตั้งของภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์พบใหม่ที่วัดสระหงส์
ภาพเขียนสีรอยมือก่อนประวัติศาสตร์พบใหม่ที่วัดสระหงส์
ที่มา : ผู้เขียน วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
จึงได้นำนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษาลงพื้นที่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามรอยจึงพบรอยมือ1รอย ทั้งนี้นายสุประจิตร เพ็ชรดอน นักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา ชั้นปีที่2 ได้สังเกตเห็นรอบแต้มห้าจุดซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นรอยภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบใหม่อีก1จุดใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นร่องรอยการอาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแถบพื้นที่นี้
ภาพเขียนสีรอยมือก่อนประวัติศาสตร์พบใหม่โดยนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ที่วัดสระหงส์ ที่มา : ผู้เขียน วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
การศึกษาสภาพและแนวทางการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ผาผึ้งและภาพที่ค้นพบใหม่ที่จังหวัดชัยภูมินั้น เป็นภาพสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งลักษณะคล้ายกับภาพเขียนสีที่สำคัญบางแห่งในภาคอีสานน่าจะมีอายุสมัยร่วมกับภาพเขียนสีทั่วไปในเขตภาคอีสานคือมีอายุราว 6,000 ถึง 2000 ปีมาแล้วเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของเมืองชัยภูมิที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ บทความมุ่งเน้นการสํารวจข้อมูลแหล่งทรัพยากรและเสนอแนวทางการจัดทรัพยากรทางวัฒนธรรมเพื่ออนุรักษ์อย่างยั่งยืนและจัดการให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญด้วยการบูรณาการชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมไปถึงสถานศึกษาเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการนําไปพัฒนาชุมชนในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10. (2563). รายงานผลการตรวจสอบแหล่ง โบราณคดีภาพเขียนสีผาผึ้ง ตำบลนาฝาย อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ. ปรับปรุงข้อมูลครั้งที่ 2. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
สุภาพร นาคบัลลังก์. (2551). ก่อนประวัติศาสตร์. เชียงใหม่:ศูนย์โบราณคดีภาค เหนือ.
บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาพเขียนสีสมัยก่อนก่อนประวัติศาสตร์ ผาผึ้ง จังหวัดชัยภูมิ และภาพที่ค้นพบใหม่ที่วัดสระหงส์ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
ภาพเขียนสีสมัยก่อนก่อนประวัติศาสตร์ ผาผึ้ง จังหวัดชัยภูมิ และภาพที่ค้นพบใหม่ที่วัดสระหงส์ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ผู้เขียน : ประเสริฐศักดิ์ มีหมู่